“บ้านธาต” ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากอำเภอรัตนบุรี ไปตามเส้นทางสายรัตนบุรี – ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๗๖ ประมาณกิโลเมตรที่ ๘ เคยเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ คือ
- กำแพงเมือง คูเมือง ซึ่งเป็นแบบโบราณล้อมรอบบ้านธาตุทางทิศตะวันตกและทิศใต้
- บึง หรือหนองน้ำ ซึ่งขุดด้วยมนุษย์ ล้อมรอบบ้านธาตุ ทางทิศเหนือและตะวันออก (ปัจจุบัน คือ หนองบัว – หัวช้างหนองเบือก หนองแก หนองกอลอ ฯลฯ )
- ประตูเมือง ซึ่งเป็นทางเข้า – ออก ๔ ด้าน คือ ประตูด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ตามสภาพที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
- เขตพระราชวัง (โฮง) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง (คือ บริเวณตะวันตกวัดโพธิ์ศรีธาตุในปัจจุบัน)
- สถานที่ประกอบศาสนกิจหรือพิธีกรรมตามความเชื่อ คือ “ วิหาร ” หรือ “ เจดีย์ ” หรือ “ ธาตุ ” หรือ “ เทวสถาน ” (บริเวณวัดโพธิ์ศรีธาตุ ซึ่งได้แก่ ธาตุ หิน ที่ก่อด้วยศิลาแลงหินทราย ในปัจจุบันทางวัดได้ใช้เป็นฐานในการสร้างพระธาตุมณฑป)
นอกจากนี้ ยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและเป็นเนินดิน มีคูน้ำล้อมรอบและมีหมู่บ้านกระจัดกระจายโดยรอบเป็นทุ่งนากว้างจากหลักฐานเหล่านี้จึงน่าเชื่อได้ว่า บ้านธาตุนั้น เดิมเป็นเมืองของขอม ซึ่งมีอายุนับได้พันปีมาแล้ว ต่อมาอาจมีข้าศึกจากเมืองอื่น ยกทัพมารุกรานทำลาย หรือเกิดโรคระบาด จนทำให้ผู้คนอพยพหนีจากไป จนกลายเป็นเมืองร้าง และปราศจากการครอบครองของอาณาจักรใดๆ ในสมัยนั้น เสมือนหนึ่ง เป็นดินแดนตกสำรวจอยู่เป็นเวลานาน แม้ในสมัยสุโขทัย หรืออยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง ก็มิได้มีหลักฐานใดๆ ที่กล่าวถึงดินแดนแถบนี้บ้างเลย
ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ( ในราวปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ) ได้มีชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขอม ต่อมาเรียกกันว่า พวกข่าส่วย กวย ที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแถบเมืองอัตปือ แสนแป ในแคว้นจำปาสัก ตอนใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตปกครองของอาณาจักรไทยสยาม (เพิ่งเสียให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ. ๑๑๒) คนกลุ่มนี้ มีความรู้ ความสามารถในการจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวามุ่งหน้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษปัจจุบัน การอพยพคราวนั้น ได้แยกย้ายออกเป็น ๖ กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีหัวหน้า ( หัวโป่ ) คณะนำมาดังนี้
กลุ่มที่ ๑ มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโคกเมืองที
(บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน)
กลุ่มที่ ๒ มีหัวหน้าชื่อ เชียงไชย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกุดปะไท
(บ้านจารพัตร อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
กลุ่มที่ ๓ มีหัวหน้าชื่อ เชียงขันและตากะจะ (บิดาเชียงขัน) มาตั้งบ้าน
เรือนอยู่ที่บ้านโคกลำดวน (อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ในปัจจุบัน)
กลุ่มที่ ๔ มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ (ขะ) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง
หรือ บ้านโคกอัจจะหรือบ้านโคกยาง (บ้านสังขะ อำเภอสังขะ
จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
กลุ่มที่ ๕ มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองลีง (ตำบลเมืองลีง อำเภอ จอมพระ จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
กลุ่มที่ ๖ มีหัวหน้าชื่อ เชียงสี มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองร้างแห่งหนึ่งซึ่ง อุดมสมบูรณ์มาก (บริเวณที่ตั้งบ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี
จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน )ชุมชนทั้ง ๖ กลุ่ม มีหัวหน้าปกครอง แบบพ่อบ้านและต่างก็ปกครองกันเองฉันท์พี่น้องอย่างอิสระ
ไม่ขึ้นกับหัวเมืองใด และทำมาหากินด้วยการทำนา ล่าสัตว์ เก็บของป่า และเลี้ยงช้างสืบต่อกันมาอย่างสงบสุข
เชียงสี เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าสามารถผาบและผูกมัดคนผี และสัตว์ร้ายได้ บริเวณที่เชียงสีตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นแบ่งเป็น คุ้ม เชียงสีเองก็อยู่คุ้มบ้านไม้หลี่ (ตะวันออกวัดโพธิ์ศรีธาต) เชียงสีหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่และออกไปทำไร่ปลูกข้าว ในที่ห่างไกลบ้าน เมื่อออกจากบ้านไปไร่ เชียงสีจะเอาเต่าไปเป็นอาหาร โดยเจาะกระดองเต่าผูกหาบคอน (คู่) กับหม้อข้าวเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียก “เชียงสีคอนเต่า” ต่อมา เชียงสี ครอบครัวและชาวบ้าน ได้อพยพย้ายหมู่บ้านจากบ้านไม้หลี่ ( บ้านธาตุ ) ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านกุดหวาย หรือบ้านเมืองเตาอยู่มาในราว พ.ศ. ๒๓๐๒ (หรือ ๒๓๐๓ - ๒๓๐๔ ) พระยาช้างเผือกซึ่งเป็นช้างทรงของพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ( พระเจ้าเอกทัศน์ ) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ได้แตกโรงหนีจากกรุง ศรีอยุธยามาทางทิศตะวันออกเข้าไปอยู่ในป่าดงทางทิศตะวันตก แขวงเมืองจำปาสัก พระเจ้าเอกทัศน์ ได้โปรดเกล้าฯให้ สองพี่น้อง คุมไพร่พล ๓๐ นายออกติดตามเอาพระยาช้างเผือกคืนมา( “ สองพี่น้อง ” ไม่ทราบว่าเป็นใครกันแน่ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นนายทอง ด้วงกับนายบุญมาเพราะได้ความจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าในปี พ.ศ. ๒๓๐๕ พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงตั้งนายสิน(พระเจ้าตากสิน) อายุ ๒๘ ปี เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก นายทองด้วงอายุ ๒๖ ปี เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และให้นายบุญมาน้องชายนายทอง ด้วงเป็นที่นายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร จึงเป็นที่แน่ใจว่านายทองด้วงกับนายบุญมา สองพี่น้องคู่นี้รับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในเวลาที่พระยาช้างเผือกแตกโรงหนีออกไปอยู่ป่า จึงถูกใช้ให้ไปติดตามพระยาช้างเผือก ซึ่งต่อมา นายทองด้วง ได้เป็น สมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และนายบุญมาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุริยสิงหนาท ) สองพี่น้องและไพร่พลเดินทางผ่านดงพญาไฟมาถึงเมืองพิมาย ได้รับคำแนะนำจากเจ้าเมืองพิมายให้ไปสืบตามพวกส่วยแทรกโ พนช้างบ้านกุดหวาย ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างดูคงจะ ทราบเรื่อง จึงได้เดินทางเลยไปถึงดงฝากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้ เชียงสีได้นำสองพี่น้องกับไพร่พลไปสมทบหัวหน้าส่วยคนอื่นๆ คือ เชียงปุม เชียงไชย เชียงขัน และเชียงสง จึงได้ช่วยกันตาม หาช้าง จนในที่สุดได้ทราบข่าวจากเชียงฆะ ( ขะ )ที่บ้านอัจจะ ปะนึงว่า มีคนพบช้างเผือกมาลงเล่นน้ำกับโขลงช้างป่าที่บ้าน หนองบัวหรือหนองโชคตอนบ่ายทุกวันจึงได้พากันไปเฝ้าคอย ดูและได้พบพระยาช้างเผือกจริงๆ เชียงสีทำพิธีเพิกช้างป่าและสะกดช้างเผือก โดยเสกก้อนกรวด (หินแห่) หว่านไป ๘ ทิศ กระทืบเท้า ๓ ครั้ง ช้างป่าก็แตกตื่น เข้าป่า ส่วนช้างทรงยืนส่ายงวงหมุนวนอยู่กับที่ จึงช่วยกันจับ ช้างเผือกดังกล่าว แล้วนำพระยาช้างเผือกกลับเมืองพิมายเข้า กรุงศรีอยุธยา โดยหัวหน้าหมู่บ้านชาวส่วยทั้ง ๖ ตามไปส่งด้วย พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบเรื่องราวจากคำกราบทูลของสอง พี่น้องแล้ว จึงทรงพระราชทานความดีความชอบ และโปรด เกล้าฯ แต่งตั้งชาวส่วยเหล่านั้นเป็นหัวหน้าหมู่บ้านกลับไปปก ครองคนในหมู่บ้านของตนโดยทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย (เป็นครั้กแรกที่ไทยได้ดินแดนส่วนนี้ไว้ในครอบครอง เมื่อก่อน เป็นเขตแดนของจำปาสัก สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุท ผู้ครองนคร
จำปาสัก แต่เนื่องจากเป็นชายแดนห่างไกล ปกครองไม่ทั่วถึงจึงถูกนำมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย ) ดังนี้
- เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้รับยศเป็น หลวงสุรินทร์ภักดี
- เชียงฆะ หัวหน้าหมู่บ้านอัจจะปะนึง ได้รับยศเป็นหลวงเพชร (บ้างก็ว่าหลวงสังขะเขต )
- เชียงขัน หัวหน้าหมู่บ้านโคกลำดวนร่วมกับตากะจะ เป็น หลวงปราบ ส่วน ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
- เชียงสง หัวหน้าหมู่บ้านเมืองลีง ได้รับยศเป็น ขุนหลวงราช
- เชียงไชย หัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท ได้รับยศเป็น ขุนสุริยวงศ์ ( บ้างว่า หลวงอนันตราช )
- เชียงสี หัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย ได้รับยศเป็น หลวงศรีนครเตา
ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทร์ภักดี ( เชียงปุม )
ได้ขอพระบรมราชานุญาต ย้ายหมู่บ้านจากเมืองที
ซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการทำมาหากิน ไปอยู่บ้าน
คูปะทาย หรือ บ้านปะทายสมันต์ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม
ที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี
ประกอบกับมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เมื่อได้ย้าย มาอยู่ที่
บ้านคูปะทายแล้ว เชียงปุมพร้อมกับชาวส่วยคนอื่นๆจึงได้
พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่ง สุริยามรินทร์
ณ กรุงศรีอยุธยา โดยนำสิ่งของมีค่าในท้องถิ่น อันได้แก่
ช้าง ม้า แก่นสน ปีกนก นอระมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้ง
น้ำผึ้ง ซึ่งถือว่าเป็นการส่งส่วยตามประเพณี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์หัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นให้สูงขึ้น และทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ยกฐานะหมู่บ้านเหล่านั้นขึ้นเป็นเมือง ดังนี้
๑. บ้านคูปะทาย เป็น เมืองปะทายสมันต์ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นเมืองสุรินทร์ เพราะเจ้าเมืองมีนามสุรินทร์หลายคน) มีพระสุรินทร์ภักดี
ศรีณรงค์จางวาง ( เชียงปุม ) เป็นเจ้าเมือง
๒. บ้านโคกลำดวน หรือ ดงลำดวน (เอกสารบางเล่มว่า เป็นบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนใหญ่ )เป็น เมืองขุขันธ์ มี พระไกรภักดีศรี
นครลำดวน ( ตากะจะ ) เป็นเจ้าเมือง
๓. บ้านอัจจะปะนึง หรือ บ้านโคกยาง เป็นเมืองสังขะ มี พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ( เชียงฆะ )เป็นเจ้าเมือง
๔. บ้านกุดหวาย หรือ บ้านเมืองเตา เป็น เมืองรัตนบุรี มี พระศรีนครเตาท้าวเธอ ( เชียงสี )
เป็นเจ้าเมืองส่วนเชียงสงแห่งหมู่บ้านเมืองลีง และเชียงไชยแห่งหมู่บ้านกุดปะไทหรือบ้านจารพัตร ไม่ได้กล่าวถึงเลยเข้าใจว่า คงไม่ได้
มีส่วนร่วมในการเดินทางไปถวายสิ่งของที่เมืองหลวงในคราวนี้ด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองทั้ง ๔ ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงกอบกู้อิสรภาพคืนมาได้และได้ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีของ
ไทยในเวลาต่อมา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าสิริบุญสาร พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ( เวียงจันทร์ ) ได้ส่งกองทัพมาตามจับพระวอ
( พระวรราชภักดี ) ซึ่งได้มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี อันได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนมดแดง( ภายหลัง รัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้ยกขึ้นเป็น
เมือง คือ จังหวัดอุบลราชธานี ในทุกวันนี้ ) ไปประหารชีวิตที่แขวงนครจำปาสัก พระเจ้ากรุงธนบุรีทรง
พระพิโรธ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑)
เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ ( พระอนุชารัชกาลที่ ๑ ) ยกทัพผ่าน
ไปทางเมืองปะทายสมันต์ สังขะ รัตนบุรี ขุขันธ์ เมืองทั้ง ๔ ได้จัดกำลังทหาร
เข้าสมทบและให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพเรือยกกองทัพขึ้นไปตามลำน้ำโขง
โดยแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปสมทบกับกองทัพทางบก เพื่อล้อมตีเวียงจันทร์
เมืองเวียงจันทร์ยอมแพ้ จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป เจ้าเมือง
จำปาศักดิ์ไม่ยอมต่อสู้จึงยอมขึ้นกับกรุงธนบุรีโดยดี กองทัพไทยจึงได้ยกกอง
ทัพกลับกรุงธนบุรี
ปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เกิดจลาจลขึ้นในประเทศเขมร พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงโปรด
เกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยก
กองทัพไปปราบจลาจล ทางกองทัพได้เกณฑ์กำลังพลจากเมืองปะทายสมันต์
เมืองขุขันธ์ และเมืองสังขะ เข้าสมทบกับกองทัพหลวง ด้วยการไปปราบ
จลาจลในครั้งนี้ กองทัพไทยได้เคลื่อนพลไปตีเมืองเสียมราฐ เมืองกำพงสวาย
เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ ( ถ้ำช้าง ) เมืองเหล่านี้
ยอมแพ้ขอขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ส่วนหัวเมืองอื่นๆยังไม่ได้ไปตีก็ได้ข่าวว่าเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงรีบยกกองทัพกลับกรุงเพื่อป้องกันเมืองหลวง การปราบจลาจลในครั้งนี้ขากลับได้มีการกวาดต้อนพลเมืองมา
ด้วยเป็นจำนวนมาก และพลเมืองบางส่วนก็อพยพมาเอง พลเมืองที่พูด ภาษาเขมรเหล่านั้นได้ กระจัดกระจายกันอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ คือ
ที่เมืองนางรอง เมืองปะทายสมันต์ ( เมืองสุรินทร์ ) เมืองสังฆะ ( อำเภอสังขะ ) บ้านกำพงสวาย ( อำเภอท่าตูม )
การอพยพดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีพลเมืองไทยพูดภาษาเขมร ซึ่งในการอพยพครั้งนี้ได้มีนางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรร
ทายเพชร และพี่น้องบ่าวไพร่เข้ามาอยู่ที่เมืองปะทายสมันต์เป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองปะทายสมันต์จึงได้จัดให้นางสาวดาม มาตไว
แต่งงานกับหลานชายของตนที่ชื่อนายสุ่น ( นายสุ่น เป็นบุตรนายตี บุตรชายคนแรกของพระยาสุรินทร์ภักดี ) เมื่อชาวเขมรได้ทราบว่า
เจ้านายของตน นางสาวดาม มาตไวได้เป็นหลานสะใภ้ของเจ้าเมืองปะทายสมันต์กกันดีใจ และอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
(ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทร์, หน้า ๔๒)
ดังนั้น เมืองปะทายสมันต์ ซึ่งมีพลเมืองเป็นกวยหรือส่วยจึงปะปนกับเขมรที่มาใหม่ และเพราะสาเหตุที่เขมรเป็นชาติที่รุ่งเรืองมาก่อน
ความเป็นอยู่รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ของเมืองปะทายสมันต์จึงโน้มเอียงไปทางเขมรมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันแต่ที่เมืองรัตนบุรี
ไม่มีพวกเขมรเข้ามาปะปน จึงคงวัฒนธรรมส่วยเอาไว้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันอำเภอรัตนบุรี เป็นอำเภอเดียวในจังหวัดสุรินทร์
ที่ประชากรในอำเภอพูดภาษาเขมรไม่ได้และไม่มีวัฒนธรรมทางเขมรเลย
เมืองรัตนบุรี ถูกยุบเป็นอำเภอรัตนบุรี ตามลักษณะการปกครองสมัยใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออก
เฉียงเหนือประมาณ ๗๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๘๔๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๒๘,๑๒๕ ไร่ ประกอบด้วย ๑๖ ตำบล ๒๐๕
หมู่บ้าน (ข้อมูลปี พ.ศ. ๒๕๓๖)
พระศรีนครเตาท้าวเธอ อยู่ครองเมืองรัตนบุรีจนสิ้นชีพ
ตอนที่พระศรีนครเตาท้าวเธอจะสิ้นชีพนั้นได้กล่าวคำสาป
ไว้ว่า
๑. ใครมาครองเมืองรัตนบุรี ถ้ามันไม่เคารพนับถือกู ให้มัน
มีอันเป็นไป
๒. เมื่อกูตายแล้ว กูจะกลับไปสิงสถิตย์บ้านธาตุของเก่า
๓. เต่าเป็นของกู ใครเอาเต่ากูไปกิน กูจะตามฆ่า
ชาวอำเภอรัตนบุรี ได้ร่วมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์พระศรีนคร
เตาท้าวเธอ ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้สร้างเมือง
รัตนบุรีคนแรก ตั้งอยู่ทางด้านขวามือของถนนสายรัตนบุรี – ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๗๖ เยื้องกับที่ว่าการอำเภอรัตนบุรีหลัง
จากที่เชียงสี ครอบครัวและชาวบ้าน อพยพไปจากบ้านไม้หลี่ ( บ้านธาตุ ) แล้ว บ้านธาตุก็กลายเป็นบ้านร้าง ต่อมามีลาวพวกหนึ่งอพยพมา
จากบ้านน้ำคำ เขตยโสธร มาพบบริเวณที่เป็นเมืองเก่า มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย แล้วเรียกชื่อบ้านว่า “บ้านธาตุ” ตาม
ชื่อธาตุหินที่มีอยู่ ได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณธาตุหินนี้และบูรณะปฏิสังขรณ์ สืบมาจนทุกวันนี้
**** ได้รวบรวมและเรียบเรียงประวัติบ้านธาตุ เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ข้อมูลที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ตั้งใจว่า ในอนาคต
จะได้ตรวจสอบความถูกต้อง ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับจดจำ ระลึกถึงและ
ศึกษาของอนุชนและบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรัก ความสามัคคี มีความสำนึกรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และร่วมกัน
พัฒนาบ้านเกิดให้เป็นชุมชนที่มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็งและ ยืนอยู่ได้อย่างภาคภูมิ ****